บริการสืบค้น

Custom Search
ตั้งอยู่หมู่ที่ 7 ตำบลสุรนารี การเดินทางใช้ทางหลวงหมายเลข 304 (นครราชสีมา-ปักธงชัย) ระยะทาง 19 กิโลเมตร แยกขวาเข้าไปทางมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (ประตูที่ 2) อีก 3 กิโลเมตร แยกซ้ายเข้าถนนเลี่ยงเมืองสายมิตรภาพ-หนองปลิงอีก 2 กิโลเมตรถึงวัดโกรกเดือนห้าซึ่งปัจจุบันเป็นที่เก็บไม้กลายเป็นหินซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมากกว่าหมื่นชิ้น ในบริเวณนี้มีการขุดพบเศษไม้ ท่อนไม้กลายเป็นหินตั้งแต่ระดับผิวดินถึงระดับความลึก 8 เมตร มีขนาดต่างๆ กัน ตั้งแต่ขนาดกรวดจนถึงขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางมากกว่า 50 เซนติเมตร และบางชิ้นมีความยาวมากกว่า 1 เมตร มีสีสันหลากหลาย ทั้งในก้อนเดียวจนถึงต่างก้อนกัน มีอายุอยู่ในช่วงประมาณ 1 ถึง 70 ล้านปี จังหวัดนครราชสีมามีโครงการจัดสร้างเป็นอุทยานไม้กลายเป็นหินและพิพิธภัณฑ์แห่งแรกของเอเชีย เพื่อเป็นการอนุรักษ์ซากดึกดำบรรพ์นี้ไว้ให้เป็นมรดกให้ชนรุ่นหลังได้ศึกษาต่อไป


ไม้กลายเป็นหิน หมายถึง ไม้ในสมัยดึกดำบรรพ์ที่เปลี่ยนแปลงสภาพเป็นหิน ซึ่งเกิดจากเนื้อไม้เดิมถูกแทนที่ด้วยแร่ธาตุ

“ไม้กลายเป็นหินตามแหล่งต่างๆของโลกนั้น มีสาเหตุมาจากหลักใหญ่ 2 ประการ คืออิทธิพลของภูเขาไฟ เกิดจากการทับถมของพื้นที่ป่าไม้ หรือที่ราบที่มีท่อนไม้ฝังอยู่ ด้วยเถ้าภูเขาไฟ หรือฝุ่นภูเขาไฟ ซึ่งมีซิลิกาเป็นองค์ประกอบอยู่มาก ตะกอนดังกล่าวเมื่อผุพังสลายตัว ซิลิกาบางส่วนจะอยู่ในรูปสารละลายในน้ำใต้ดิน สามารถแทรกซึมเข้าไปแทนที่เนื้อไม้อย่างช้าๆจนกระทั่งเข้าไปแทนที่ทั้งหมด”

ส่วนสาเหตุประการที่สองนั้น ผศ.ดร.ประเทืองอธิบายว่า เกิดจากอิทธิพลของน้ำท่วม ทำให้มีการพัดพาตะกอน กรวด ทราย ดิน จำนวนมาก ไปทับถมส่วนของต้นไม้เอาไว้ และสารละลายจากน้ำใต้ดินจะค่อยแทรกซึมไปแทนที่เนื้อไม้ จนกระทั่งเนื้อไม้กลายเป็นหิน
ผศ.ดร.ประเทือง อธิบายถึงความสำคัญของไม้กลายเป็นหินว่า ไม่เพียงเป็นแค่ซากดึกดำบรรพ์ที่เก่าแก่ไปตามกาลเวลา แต่เปรียบเสมือนกุญแจไขสู่โลกในอดีต และมีความสำคัญทางวิชาการในด้านต่างๆ


“ในด้านสาขาชีววิทยา พฤกษศาสตร์และบรรพชีวินวิทยา ไม้กลายเป็นหิน มีประโยชน์ต่อการศึกษาเชิงวิวัฒนาการเพื่อจำแนกชนิดพืช ไม่ต่างจากการศึกษาฟอสซิล โดยนำมาพิจารณาถึงการเปลี่ยนแปลงของพืชพรรณ รวมถึงสภาพแวดล้อมในอดีต ส่วนในด้านสาขาธรณีวิทยา นับเป็นหลักฐานสำคัญต่อการอธิบายปรากฏการณ์ทางธรณีวิทยา เช่น การแยกตัวของแผ่นดินในทวีปต่างๆ สภาพผืนดินในยุคดึกดำบรรพ์ รวมทั้งสามารถนำมาศึกษาปรากฏการณ์การสูญพันธุ์ การล้มตายของไดโนเสาร์ หรือช่วยบอกอายุของชั้นหิน หรือตะกอน ซึ่งจำเป็นสำหรับการจัดลำดับชั้นหิน ทั้งยังบอกสภาพแวดล้อมของโลกในแต่ละช่วงเวลา เช่น ภูมิอากาศ ปริมาณฝน ฤดูกาล พืชพรรณธรรมชาติ ไม่แตกต่างจากการศึกษาฟอสซิลชนิดหนึ่ง”
ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยฯ ยังเผยว่า ในประเทศไทยสามารถพบไม้กลายเป็นหินได้มากที่สุด ในพื้นที่ภาคอีสาน เนื่องจากเป็นที่ราบซึ่งเคยเกิดน้ำท่วมใหญ่ มีการพัดพาซากไม้ และตะกอน ในระดับที่ลึกจนเกิดเป็นปรากฏการณ์ดังกล่าวได้

“ไม้กลายเป็นหิน พบได้มากในพื้นที่ นครราชสีมา ขอนแก่น บุรีรัมย์ สุรินทร์ ชัยภูมิ ประเทศไทยจึงนับเป็นแหล่งสำคัญในเอเชีย โดยเฉพาะที่จังหวัดตาก มีไม้กลายเป็นหินที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกในพื้นที่ป่าสงวน ส่วนที่เหมืองถ่านหินจังหวัดเลย ก็มีไม้กลายเป็นหินที่มีอายุมากกว่า 300 ล้านปี รวมถึงพื้นที่อื่นๆในภาคอีสานก็ล้วนแต่มีอายุไม่ต่ำกว่า 100 ล้านปี”